877 จำนวนผู้เข้าชม |
งาดำ เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุฤดูเดียว มีลำต้นตั้งตรง อาจแตกกิ่งหรือไม่แตกกิ่งแขนง ลำต้นสูงประมาณ 50-150 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะสีเหลี่ยม มีร่องตามยาว ไม่มีแก่น มีลักษณะอวบน้ำ และมีขนสั้นปกคลุม เปลือกลำต้นบาง มีสีเขียว
ใบงาดำ ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกันเป็นชั้นๆตามความสูง ประกอบด้วยก้านใบสั้น ยาวประมาณ แผ่นใบมีรูปหอก สีเขียวสด กว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-16 เซนติเมตร โคนใบมนกว้าง ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเล็กน้อย มีเส้นแขนงใบตรงข้ามกันเป็นคู่ๆยาวจรดขอบใบ
ดอกงาดำเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มตรงซอกใบ จำนวน 1-3 ดอก ดอกย่อยมีก้านดอกสั้น มีกลีบรองดอก จำนวน 5 กลีบ ส่วนกลีบดอกมีลักษณะเป็นกรวย ห้วยลงดิน กลีบดอกอ่อนมีสีเขียวอมเหลือง กลีบดอกเมื่อบานมีสีขาว ยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กลีบล่าง และกลีบบน โดยกลีบล่างจะยาวกว่ากลีบบน ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 2 คู่ มี 1 คู่ยาว ส่วนอีกคู่สั้นกว่า ส่วนเกสรตัวเมียมี 1 อัน มีก้านเกสรยาว 1.5-2 เซนติเมตร ปลายก้านเกสรแหว่งเป็น 2-4 แฉก
ผล และเมล็ด ผลงาดำเรียกว่า ฝัก มีลักษณะทรงกระบอกยาว ผิวฝักเรียบ ปลายฝักแหลมเป็นติ่ง และแบ่งออกเป็นร่องพู 2-4 ร่อง กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ฝักอ่อนมีสีเขียว และมีขนปกคลุม ฝักแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีดำอมเทา จากนั้น ร่องพูจะปริแตก เพื่อให้เมล็ดร่วงลงดิน ภายในฝักมีเมล็ดขนาดเล็ก สีดำจำนวนมาก เมล็ดเรียงซ้อนในร่องพู เมล็ดมีรูปรี และแบน ขนาดเมล็ดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เปลือกเมล็ดบางมีสีดำ มีกลิ่นหอม แต่ละฝักมีเมล็ดประมาณ 80-100 เมล็ด
สรรพคุณของสารอาหารที่พบ
1. งามีคาร์โบไฮเดรตในปริมาณตํ่า แต่มีวิตามินบีทุกชนิดสูงจึงนับได้ว่างามีวิตามินบีอยู่เกือบทุกชนิด จึงมีสรรพคุณช่วยบำรุงระบบประสาท บำรุงสมอง บรรเทาอาการเหน็บชา แก้ร่างกายอ่อนเพลีย แก้อาการปวดเมื่อย และแก้การเบื่ออาหาร
2. งามีสารเลซิติน ทำหน้าที่ช่วยลดปริมาณโคเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้ดี
3. สารเซซามินที่มีอยู่ในงา เป็นสารป้องกันมะเร็ง และช่วยชลอความแก่ของร่างกาย
4. งาเป็นอาหารที่มีแร่ธาตุมากที่สำคัญ คือ ธาตุเหล็ก ไอโอดีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส โดยปริมาณแคลเซียมที่พบจะมีมากกว่าพืชผักทั่วไปกว่า 40 เท่า และฟอสฟอรัสมากกว่าพืชผักทั่วไปกว่า 20 เท่า ซึ่งเป็นธาตุที่ทำหน้าที่เสริมสร้างกระดูก โดยเฉพาะเด็กเล็ก และสตรีวัยหมดประจำเดือน
5. กรดไลโนเลอิคพบในเมล็ดงาจำนวนมาก เป็นกรดที่มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโต และช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง เพราะทำให้ผนังเซลล์ภายในภายนอกทำงานอย่างปกติ
6. กรดไขมันไลโนเลอิค และกรดไขมันชนิดโอเลอิค ช่วยในการลดระดับไขมันชนิดต่างๆในเส้นเลือด และช่วยป้องกันการเกิดเกล็ดเลือด และลิ่มเลือด
7. งามีปริมาณใยอาหารในปริมาณสูง ทำหน้าที่เสริมสร้าง และกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ทั้งการย่อย การดูดซึม และการขับถ่าย ช่วยป้องกันอาการท้องผูก ยับยั้ง และดูดซึมสารพิษ พร้อมขับออกทางอุจจาระ ทำให้ป้องกันมะเร็งในลำไส้ และควบคุมระดับไขมันในเลือดได้
ที่มา : https://puechkaset.com/งาดำ